ธาตุอาหารพืชในดิน
โดยปกติ ในดินจะมีธาตุอาหารสำหรับพืชตามธรรมชาติอยู่แล้ว การปลูกพืชผักโดยทั่วๆ ไป เพื่อการบริโภค จึงสามารถทำได้ ได้ผลผลิตที่ดีและเพียงพอต่อความต้องการสำหรับครัวเรือน พืชผักที่เราปลูกนั้น เจริญเติบโตได้ก็ด้วยธาตุอาหารหลักของพืชที่อยู่ในดิน
วันนี้เราจะมาทำความรู้จักธาตุอาหารที่พืชต้องการซึ่งมีทั้งหมด 13 ธาตุ ด้วยกัน โดยขอแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
กลุ่มที่ 1 ประกอบไปด้วย ไนโตเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) ซึ่งพืชมีความต้องการเป็นปริมาณมาก แต่ในความเป็นจริง 3 ธาตุนี้ มักจะมีไม่ค่อยพอกับความต้องการของพืชที่ปลูก ต้องช่วยเหลือโดยใส่ปุ๋ยอยู่เสมอ กลุ่มที่ 2 แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน 3 ธาตุนี้ พืชก็มีความต้องการมากเช่นกัน และมักจะมีปริมาณอยู่ในดินค่อนข้างมาก เพียงพอกับความต้องการของพืช เมื่อเราใส่ปุ๋ยสำหรับธาตุในกลุ่มที่ 1 ธาตุใน
กลุ่มที่ 2 นี้ก็มักจะติดมาด้วยเสมอไม่มากก็น้อย จึงไม่ค่อยมีปัญหาเกิดการขาดหรือมีไม่พอเพียงกับความต้องการของพืช กลุ่มที่ 3 ประกอบไปด้วย 7 ธาตุ คือ เหล็ก แมงกานีส โบรอน โมลิบดินัม ทองแดง สังกะสี และคลอรีน พืชโดยทั่วไปมีความต้องการเป็นปริมาณน้อยมาก เราจึงเรียกธาตุใน
กลุ่มที่ 3 นี้ว่า จุลธาตุอาหาร ธาตุกลุ่มนี้บางธาตุ ถ้ามีอยู่ในดินเป็นปริมาณมาก เช่น เหล็กและแมงกานีส ก็จะกลับกลายเป็นพิษทำลายพืชได้
อย่างไรก็ตามธาตุกลุ่มนี้รวมทั้งในกลุ่มที่ 2 ต่างก็มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชเท่าเทียมกัน และมีความสำคัญเท่าเทียมกับกลุ่มที่ 1 ด้วยเช่นกัน ถ้าขาดธาตุไป หรือไม่เพียงพอกับความต้องการของพืช พืชก็จะหยุดชะงักการเจริญเติบโต และจะตายไปในที่สุด
หน้าที่และความสำคัญ ของ 3 ธาตุหลัก N P K
ไนโตรเจน (N) เป็นธาตุอาหารหลักที่สำคัญของพืช และมักพบว่าในพืชส่วนใหญ่ขาดธาตุอาหารหลักชนิดนี้เป็นอย่างมาก เพราะมักเกิดการชะล้างหรือสูญเสียจากการระเหยได้ง่าย โดยมีหน้าที่ในการสร้างเสริม ซ่อมแซม และสังเคราะห์แสง คือเป็นการส่งเสริมโปรตีนในพืช ทำให้พืชสามารถเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะกิ่งและใบของพืชต่างๆ ซึ่งหากไม่ได้รับแร่ธาตุนี้ก็จะทำให้พืชไม่เจริญเติบโต และใบมีสีเหลืองเนื่องจากขาดสารคลอโรฟิลล์นั่นเอง
ฟอสฟอรัส (P) เป็นแร่ธาตุที่ละลายไปกับน้ำได้ค่อนข้างยาก โดยการดูดซึมไปใช้ของพืชขึ้นอยู่กับความเป็นกรด-ด่างของดิน โดยจะช่วยให้รากสามารถดูดซึมไปใช้ได้มากที่สุด ส่งผลให้ลำต้นมีความแข็งแรง ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อเจริญเติบโตขึ้น คือจะกระตุ้นให้เกิดดอกได้ดี และหากขาดแร่ธาตุชนิดนี้ไปก็จะทำให้รากเกิดการเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง และไม่เจริญเติบโต รวมทั้งลำต้นอ่อนแออีกด้วย
โพแทสเซียม (K) เป็นแร่ธาตุที่สามารถละลายน้ำได้ดี จะคอยทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แสง คอยลำเลียงอาหารไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในพืช ทำให้พืชสามารถต้านทานโรคบางชนิดได้ดี ช่วยทำให้ต้นแข็งแรงและผลิตผลมีคุณภาพ ซึ่งหากขาดธาตุอาหารนี้ไปก็จะทำให้ใบเกิดเป็นจุด และแห้งตายในที่สุด